วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Energy Saving By Control Speed Air Compressors


โดยปกติแล้วการทำงานของเครื่องอัดอากาศจะมี 2 สภาวะคือ Load และ Unload ช่วงที่ Load คือช่วงเวลาที่ใช้พลังงานเต็มพิกัดตามสเปคเครื่อง แต่ในช่วง Unload มอเตอร์ยังคงหมุนอยู่ และใช้พลังงานเท่าเดิมทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น ดังนั้นจึงมีผู้ใช้แนวคิดนี้มาทำเครื่องควบคุมความเร็วรอบขาย (Inverter) อาจใช้ชื่อว่า VSD หรือ VFD โดยมีหลักการเหมือนกันคือการควบคุมความถี่ของมอเตอร์ขณะ Unload สมมุติที่ความถี่ 50 Hz หมุน 1500 รอบ ลดความถี่ลงเหลือ 42 Hz จะหมุน 1260 รอบ การคิดค่า kW ใหม่หลังการปรับความเร็วให้ใช้กฎของ Affinity Laws P2/P1 = (N2/N1)^3 ถ้า P1 = 50 kw, P2 จะเท่ากับ (1260/1500)^3*50 = 29.64 kW นอกจากนี้การติดตั้ง VSD หรือ VFD ยังช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการ Load และช่วยลดค่า Peak ขณะเปิดเครื่องด้วย ด้วยนี้เครื่องอัดอากาศรุ่นใหม่ๆ มีระบบนี้ติดตั้งมาด้วยแล้วครับ

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ลมรั่วปัญหาใหญ่กว่าที่คิด


ในโรงงานอุตสาหกรรมถ้ามีการรั่วของลมในระบบเท่ากับว่าเกิดการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์เราสามารถคิดค่าสูญเสียได้ดังนี้ จากตารางนี้ดูยากหน่อยนะครับ ช่องด้านซ้ายสุดเป็น Pressure หน่วยเป็น Pounds per sq. in (ถ้าต้องการเป็น Bar หารด้วย 14.5) ด้านบนเป็นขนาดรูรั่วเป็นนิ้วครับ (ถ้าต้องการเป็น mm. ให้คูณด้วย 25.4 เช่น 1/32 * 25.4 = 0.794 mm.) และตารางลงมาคือ CFM (ปริมาณลมที่สูญเสียคิดเป็นนาที รั่วกี่นาที่ก็คูณไปครับ) ถ้าต้องการทำเป็น kW ให้นำ 4.2 หารครับ (4.2 เป็นค่าเฉลี่ยของ cfm/bhp) เช่น CFM ได้ 150 ต่อวัน 150/4.2 = 35.71 จะได้เป็นแรงม้าให้นำ 0.746 ไปคูณเท่ากับ 26.64 kW ต่อวัน ถ้าต้องการคิดเป็นเงินก็ให้คูณตามอัตราค่าไฟฟ้าเลยครับ

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อุณหภูมิมีผลกับเครื่องอัดอากาศอย่างไร

เชื่อหรือไม่ครับอุณหภูมิที่สูงขึ้นบริเวณโดยรอบมีผลกับการใช้พลังงานของเครื่องอัดอากาศมากขึ้น โดยคู่มือการเดินเครื่องจักร การตรวจวัดและการบำรุงรักษา กล่าวว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 3 องศา ปริมาตรอากาศจะลดลง 1% ทำให้เครื่องอัดอากาศต้องทำงานมากขึ้นเพื่อชดเชยในส่วนที่หายไป แนวทางการปรับปรุงให้เราทำการตรวจวัดอุณหภูมิโดยรอบของเครื่องอัดอากาศ ควรมีอุณหภูมิเท่ากับอากาศปกติ และเครื่องอัดอากาศควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรอยู่ที่อับ เช่น ในห้องปิด หากอยู่ในที่อุณหภูมิสูงควรรีบแก้ไขครับเพราะถ้าเครื่องอัดอากาศแรงม้าสูงๆ จะทำให้เราสูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ปีละหลายแสนบาททีเดียว

วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Save Mode 1.5


ใกล้จะสิ้นปีแล้วนะครับ ช่างรวดเร็วเสียจริงๆ หลายๆ ท่านคงรอเวลานี้ที่จะได้กลับบ้าน หลังจากที่จากบ้านมานาน (อย่างผมกลับทุกสัปดาห์ครับ พ่อ-แม่ อายุเริ่มเยอะแล้วเป็นห่วงครับ) หรือหลายๆ ท่านที่วางแผนจะไปเที่ยวคงได้ไปเที่ยวกันสมใจอยากนะครับ (เฮ้อ! หลายปีมานี้ไม่ค่อยได้ไปไหนเลยครับแต่ปีนี้ว่าจะเริ่มท่องเที่ยวบ้างละหาคนไปด้วยอยู่ครับ หลังจากที่ไม่เคยคิดจะหาเลย) ขอให้ท่านที่ต้องเดินทาง คุณพระคุ้มครองปลอดภัยทุกท่านครับ.

วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การเลือกเครื่องอัดอากาศ


หลังจาก 3-4 บทความก่อนกล่าวถึงเครื่องอัดอากาศแบบต่างๆ โดยย่อแล้วทีนี้เรามาพิจารณาการเลือกเครื่องอัดอากาศที่เหมาะสมกับโรงงานของเราบ้างครับ จากตารางข้อดี-ข้อเสียนี้ จะทำให้เราเห็นว่าเครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบจะให้แรงดันใช้งานที่สูงสุด แต่ก็ใช้พลังงานมากที่สุดด้วย ส่วนเครื่องอัดแบบโรตารี่ ให้แรงดันใช้งานที่ต่ำที่สุด เหมาะกับโรงงานที่ใช้แรงดัน 7-8 bar ใช้พลังงานปานกลาง และเครื่องอัดอากาศแบบหมุนเหวี่ยง ให้แรงดันใช้งานสูงกว่าแบบโรตารี่ ใช้พลังงานต่ำสุด เหมาะกับโรงงานที่มีโหลดคงที่ครับ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่จะสามารถประหยัดพลังงานจากเครื่องอัดอากาศ เช่น การลดปริมาณลมรั่ว การลดอุณหภูมิลมก่อนเข้าเครื่องอัด การปรับแรงดันให้เหมาะสมกับการใช้งาน หรือการติดตั้งอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ของเครื่องอัดอากาศ ด้วยมาเล่าต่อบทความหน้าครับ

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เครื่องอัดอากาศแบบหมุนเหวี่ยง


เครื่องอัดอากาศแบบหมุนเหวี่ยง Centrifugal Air Compressors หรือเรียกอีกแบบว่า Dynamic Compressors ลมดูดจะตรงเข้าสู่แกนกลางของเพลาใบพัด และถูกเหวี่ยงออกไปในแนวรัศมีของใบพัดสู่ผนังเครื่องอัด หลังจากนั้นจะถูกส่งไปตามระบบท่อ เครื่องอัดอากาศประเภทนี้ถูกออกแบบมาสำหรับกำลังการผลิตที่ต้องการใช้ลมอย่างต่อเนื่อง. -->ก่อนหน้า

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เครื่องอัดอากาศแบบโรตารี่

เครื่องอัดอากาศแบบโรตารี่ Rotary Compressors สามารถแบ่งออกได้อีกหลายชนิดดังนี้
-เครื่องอัดอากาศแบบโรตารี่แวน Sliding Vane Compressors อัดอากาศโดยใช้การหมุนของลูกเบี้ยว (Cam) ขับใบพัด (Vane) จะเคลื่อนที่ เข้า-ออก หมุนอยู่ภายในห้องอัด
-เครื่องอัดอากาศแบบโรตารี่ ชนิด Straight-Lobe อัดอากาศโดยใช้ตัวหมุนเป็นลอน (Lobe) 2 ตัว ตัวหนึ่งหมุนด้วยมอเตอร์ ทำให้อีกตัวหมุนตามด้วยความเร็วรอบที่สัมพันธ์กัน
-เครื่องอัดอากาศแบบสกรู Screw Compressors อัดอากาศโดยการหมุนสกรู 2 ตัว ภายในห้องขับ อากาศจะออกแบบต่อเนื่อง
ซึ่งเครื่องอัดอากาศที่ทำงานด้วยการบีบอัดเหล่านี้อาจเรียกอีกแบบว่าเป็นประเภท Positive Displacement Compressors ครับ. -->ก่อนหน้า

วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ


เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ Reciprocating Compressors โดยส่วนมากจะมีขนาดเล็กใช้แหล่งต้นกำลังจากมอเตอร์ หรือเครื่องยนต์ขนาดเล็ก โดยมีสายพานถ่ายทอดกำลังงานไปสู่เครื่องอัด เพื่อให้ลูกสูบเคลื่อนที่อัดอากาศให้มีปริมาตรเล็กลง และความดันของอากาศสูงขึ้น อากาศอัดจะถูกส่งไปเก็บไว้ในถังลมอัดก่อนนำไปใช้งานต่อไป จากรูปเป็นเครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบทำงานแบบ 2 จังหวะ และอัดอากาศ 2 ขั้นตอน เมื่อมอเตอร์หมุนสายพานจะขับให้ลูกสูบเคลื่อนที่ เข้า-ออก เพื่อทำการอัดอากาศ. -->ก่อนหน้า

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เครื่องอัดอากาศ "Air Compressors"

ระบบอัดอากาศเป็นระบบที่มีการใช้พลังงานประมาณ 10-15% ของพลังงานทั้งระบบ (ของโรงงานผมไม่เกิน 10% ครับ) ดังนั้นการที่เราสามารถเลือกเครื่องอัดอากาศที่เหมาะสมที่สามารถให้ประสิทธิภาพสูงสุดได้จะดีมาก โดยสามารถพิจารณาเครื่องอัดอากาศมีทั้งหมด 3 แบบ
1. เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ (Reciprocation Compressors) ใช้พลังงานอัดเป็นอากาศอัดโดยกระบอกสูบ
2. เครื่องอัดอากาศแบบโรตารี่ (Rotary Compressors) ใช้พลังงานอัดเป็นอากาศอัดโดยการหมุนของฟันเฟือง
3. เครื่องอัดอากาศแบบหมุนเหวี่ยง (Centrifugal Compressors) ใช้พลังงานอัดเป็นอากาศอัดโดยแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง
ทั้งนี้การที่เราไม่สามารถซื้อเครื่องอัดอากาศใหม่ได้ ก็มีวิธีเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องอัดอากาศเก่าให้ดีขึ้นครับเดี๋ยวมาเล่าทีหลัง

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Easy Energy Savings 4

พบกันอาทิตย์ละครั้งนะครับกับการประหยัดพลังงานแบบง่ายๆ เริ่มเลยละกัน
-การเปิดน้ำใช้โดยให้เป็นลักษณะฝักบัวจะดีมากครับ ประหยัดกว่าแบบเปิดโดยตรง ผมก็ใช้อยู่ครับประหยัดน้ำ และอาบน้ำทั่วถึงดีด้วย
-วันอากาศดีๆ ก็ให้ตากผ้าแทนการใช้เครื่องอบผ้าครับ
-ที่แผงระบายความร้อนของตู้เย็นให้เราทำความสะอาดอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้มันสามารถระบายความร้อนได้ดีขึ้น
-การที่เราเปิดตู้เย็นที่ช่องทำความเย็นไว้ทำให้มีอากาศเข้าไป ในอากาศมีความชื้นมันต้องใช้พลังงานในการทำความเย็นสิ้นเปลืองในจุดนี้ด้วย ดังนั้นไม่ควรเปิดบ่อยๆ หรือนานๆ
-การที่เราจะล้างตู้เย็นเราควรจะถอดปลั๊กให้มันละลายน้ำแข็งเองจะดีกว่า บางตู้เย็นจะมีระบบละลายน้ำแข็งทำให้เสียพลังงานเพิ่มขึ้นอีกต่อครับ วันนี้พอแค่นี้ครับแล้วพบกันใหม่

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Save Mode 1.4



ช่วงนี้เพื่อนๆ ที่ผมรู้จักมานานหลายๆ ท่านเริ่มย้ายงานกันใหม่ หรือออกไปทำงานส่วนตัวกันหลายท่านแล้ว ก็ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต และในหน้าที่การงานนะครับ สำหรับท่านที่กำลังเจอกับปัญหาอยู่ ผมอยากให้กำลังใจทุกคนด้วยคำนี้เหมือนที่ผมให้กำลังใจเพื่อนผมครับ "แม้ในความมืดก็ยังคงมีแสงสว่างอยู่" ความหมายมันคือถึงเราจะเจอปัญหาที่ไม่ดีมากมายในชิวิต แต่ในความไม่ดีเหล่านั้น มันมักจะมีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่เสมอครับ

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Unplug 1.2


บทความเสริมเกี่ยวกับเทคนิคไฟฟ้าเล็กๆ น้อยๆ ครับ เคยเจอกันบ้างไหมครับไฟฟ้า 1 เฟส เมื่อวัดสายนิวตรอน(N) ด้วยไขขวงเช็คไฟแล้ว ไฟติด ไม่ว่าจะเช็คทั้ง L หรือ N ทำให้งงได้จริงๆ สาเหตุของปัญหามาจากสาย N หลวมครับ ที่เคยพบคือหลวมบริเวณเบรคเกอร์ ปัญหานี้จะทำให้อุปกรณ์ใช้งานไม่ทำงาน หรือเสียหายได้ครับ

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การไฟฟ้าปรับค่า PF อย่างไร

การคิดค่า PF ที่การไฟฟ้าปรับคิดดังนี้ครับหากค่า KVAR มีค่าเกิน 61.97% ของค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ปรับกิโลวาร์(KVAR) ละ 14.02 บาท ตัวอย่างเช่นบิลค่าไฟฟ้าเดือนนี้มีค่า Peak 450 Kw และมีค่ากิโลวาร์ 400 KVAR ซึ่งดูแล้วมีค่าเกิน 61.97% ของค่า Peak แน่ดังนั้นเราต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินเท่ากับ 400 - (0.6197*450) = 121.135 ปัดทศนิยมไม่ถึง 0.5 ปัดทิ้งได้ 121 นำไปคูณกับ 14.02 บาทต่อหน่วยจะได้ 1692.42 บาท

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Save Mode 1.3

ผ่านวันที่ 16 ไปแล้วครับ ซื้อล็อตเตอร์รี่ถูกตลอดเลยครับไม่รู้ทำไม(ถูกกินตลอดเลย) บทความนี้ตามกระแสครับ ช่วงนี้ใครทำงานโรงงานเรียกว่าช่วง "งานเข้า" ทำไมน่ะหรือ เพราะสหภาพประท้วงครับ เลยหนักหน่อยนอกจากงานที่ต้องทำประจำแล้ว ยังต้องทำงานช่วงโอทีด้วยครับ แทนพนักงานที่ไม่ทำโอที ผมไม่ได้เข้าข้างบริษัทนะครับ แต่ผมทำเพื่อให้บริษัทอยู่ได้ไม่ถูกปรับเงินจากลูกค้าเพราะส่งงานไม่ทัน เพราะถ้าเจ้าของกิจการมองว่าไม่ได้กำไรแล้วจะทำไปทำไม เขาก็โกยเงินกลับบ้านทิ้งพวกเราไว้ เป็นความสูญเสียทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ การต่อลองจึงอยากให้เป็นไปได้อย่างสมเหตุสมผลครับ ผมยังเข้าข้างพนักงานที่ต้องใช้แรงงานแลกเงินนะครับ เอาใจช่วยทุกท่าน ขอให้ยุติลงด้วยความสงบนะครับ.

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประหยัดไฟฟ้าด้วยหลอด T5


หลอด T5 คือ หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 หุน (5/8”) ตัว"T" หมายถึงหลอดที่มีลักษณะเป็นหลอดทรงคล้ายท่อ "Tubular" หลอด T5 จะมีขนาดเล็กกว่าหลอดผอม T8 และT12 รวมถึงความยาวจะสั้นกว่าอยู่ประมาณ 4-5 เซนติเมตร ทำให้ใช้แทนกันไม่ได้ หรืออาจปรับใส่ได้ในบางโคม โดยที่หลอด T5 (28W) จะให้ประสิทธิภาพแสงสว่างใกล้เคียงกับหลอด T8 (32W) ที่อุณหภูมิ 30 องศา แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 30 องศา ก็จะให้ความเข้มของแสงสว่างมากกว่าหลอด T8 ด้วย ดังนั้นการเลือกหลอด T5 (28W) มาใช้แทนหลอด T8 (32W) ก็เป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะในโรงงานที่ยังคงเป็นหลอด T8 ของผมประมาณ 1500 หลอด ครับกำลังทยอยเปลี่ยนอยู่ หลอด T5 ต้องใช้บัลลาสต์เฉพาะสำหรับหลอด T5 ด้วยครับ ประหยัดขึ้นมากกว่าบัลลาสต์ธรรมดาอีกประมาณ 10W แต่ราคาต่อชุดตอนนี้ถือว่ายังแพงอยู่ครับคิด ROI ให้ดีนะครับ

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Energy Savings By Voltage Control 3


ผมเคยรับปากว่าจะเอาผลของแรงดันหลังการปรับวัดมาให้ดู วันนี้มาดูผลกันดีกว่าครับ จากรูปกราฟเส้นจะเป็นผลของแรงดันหลังการปรับวัดทั้งแรงดันแบบ 3 เพส และแบบ 1 เพส สิ่งที่ควรดูคือค่าเฉลี่ยของมันหลังจากการปรับครับ ผมได้แสดงตัวอย่างของผมไว้ที่ตารางแล้ว เมื่อเราได้แรงดันเฉลี่ยตามที่ต้องการ(ให้ดูค่าบวก,ลบของแรงดันด้วยจะดีมาก) หลังจากนั้นให้เราคอยบันทึกการใช้ค่าพลังงานใหม่ เพื่อจะได้นำไปเปรียบเทียบกับของเดิมครับ. -->ก่อนหน้า

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Easy Energy Savings 3

Easy Energy ครับการประหยัดพลังงานแบบง่ายๆ และการช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นครับ มาเริ่มกันเลยดีกว่า
- การใช้รถ Fork-Lift แบบชาร์ทแบตเตอร์รี่ดีกว่าแบบแก๊สครับ ไม่เป็นมลพิษและมีประสิทธิภาพดีกว่าด้วย
- ลองปลูกต้นไม้รอบๆ ชุดระบายความร้อนของ Air Condition มันจะทำให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้นครับ
- เชื่อไหมครับเราสามารถประหยัดไฟฟ้าจากการต้ม และอุ่นน้ำร้อนตลอดวันที่บ้านของเราได้มากทีเดียวด้วยการปิดมันครับ
- จัดโปรแกรมการใช้ของรีไซเคิล เช่น กระดาษให้ใช้ทั้ง 2 หน้า หรือพวกถุงมือ เศษผ้า ที่สามารถใช้ได้ต่อ โดยให้ทุกคนช่วยกันแสดงความคิดเห็น
- ถ้าที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ หรือชอบขี่จักรยาน ก็ให้ขี่ไปทำงานแทนขับรถบ้างครับ เลือกวันอากาศดีๆ แล้วลองดู ประหยัดดี
เจอกันใหม่กับบทความภาคต่อครับ.

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Save Mode 1.2


เข้าสู่ Save mode วันหยุดพักสบายๆ กับมนุษย์เงินเดือน เคยคิดกันไหมครับว่าเงินเดือนที่ได้รับมันช่างน้อยเสียเหลือเกิน กับความสามารถที่คุณทำได้ ผมว่าหลายๆ ท่านคงเป็นกันนะครับ แต่อยากให้หยุดคิดสักพักครับเพราะมันจะปวดหัวเปล่าๆ อยากให้มองดูสิ่งที่เป็นส่วนประกอบอื่นๆ ในโรงงานด้วยเช่น เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน แต่ถ้าไม่ได้เรื่องเลยก็หางานใหม่ดีกว่าครับ ความประสงค์ของผมคือไม่อยากให้ไปทำงานแบบทำไปวันๆ มันไม่ได้อะไร แต่ให้ไปตักตวงความรู้จากการทำงานที่บริษัทให้มากที่สุดครับจะดีที่สุด ให้กำลังใจทุกท่านครับ

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การคิดค่าไฟฟ้าจาก Bill


การคิดค่าไฟฟ้าจากบิลเก็บค่าไฟฟ้า นอกจากจะคิดจากค่าพลังงานไฟฟ้าสูงสุด(Peak) และค่าพลังงานใช้งาน(Kwh) แล้วเรายังต้องจ่ายค่า Ft(ค่าปรับปรุงต้นทุนการผลิต), ค่า PF.(ถ้าค่ากิโลวาร์เกิน 61.97% ของค่า Peak) และค่าภาษีอีก 7% รูปตัวอย่างจากบิลที่โรงงานผมครับ ผมใช้ไฟฟ้าอัตราปกติดังนั้นค่า Peak = 404 * 196.26 = 79,289.04 บาท, ค่าพลังงานใช้งานเท่ากับ 151,500 * 1.7034 = 258,065.1 บาท, ค่า PF. ผมไม่เสียเพราะอยู่ในค่าที่กำหนด, ค่า Ft. = 151,500 * 0.9255 = 140,213.25 บาท และค่าภาษี 7% รวมเป็นเงินเท่ากับ (79,289.04 + 258,065.1 + 140,213.25) * 1.07 = 510,997.11 บาท.



วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU

อัตราตามช่วงเวลาของการใช้ ( Time of Use Rate : TOU )
ค่า Peak คิดช่วงเวลา : วันจันทร์ - ศุกร์ 09.00 - 22.00 น
ค่า Off Peak คิดช่วงเวลา : วันจันทร์ - ศุกร์ 22.00 - 09.00 น. และวันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันหยุดชดเชย) ทั้งวัน

จะเห็นได้ว่าการคิดค่าไฟฟ้าแบบ TOU จะคิดค่า Peak น้อยกว่าแบบอัตราปกติ และค่าบาทต่อหน่วยจะสูงกว่ามากในช่วง วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 22.00 น. แต่ถ้ามาทำช่วงเวลา 22.00 - 09.00 น. และ เสาร์ - อาทิตย์ ค่าบาทต่อหน่วยจะน้อยกว่าอัตราปกติ ดังนั้นถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเดินเครื่องจักรให้ไปทำช่วงกลางคืน หรือวันหยุดได้ จะทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ครับ
อัตราขั้นต่ำ : ค่าไฟฟ้าต่ำสุดต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน ที่ผ่านมาสิ้นสุดในเดือนปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOD

อัตราตามช่วงเวลาของวัน ( Time of day Rate : TOD)
Peak คิดที่ช่วงเวลา : เวลา 18.30 - 21.30 น. ของทุกวัน
Partial คิดที่ช่วงเวลา : เวลา 08.00 - 18.30 น. ของทุกวัน
Off Peak คิดที่ช่วงเวลา : เวลา 21.30 - 08.00 น. ของทุกวัน

การคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOD จะคิดโดย Peak*ความต้องการพลังงานสูงสุด ในช่วงเวลา 18.30-21.30 น. + Partial Peak* ความต้องการพลังงานสูงสุด ในช่วงเวลา 08.00-18.30 น. + ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด(ดูจากบิลค่าไฟฟ้าได้)*บาท/หน่วย จะเห็นว่าค่าบาทต่อหน่วยที่ 22-33 KV ราคาเท่ากับอัตราปกติ คือ 1.7034 บาท แต่ต่างกันที่ค่า Peak ซึ่งถ้าเราสามารถควบคุมการผลิตไม่ให้ผลิตในช่วงเวลา 18.30-21.30 ได้ หรือให้ผลิตน้อยที่สุด เราจะสามารถลดการจ่ายค่าไฟในส่วนของค่า Peak ลงได้มากทีเดียว

วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ลดค่าไฟฟ้ากับการเลือกใช้อัตราค่าไฟฟ้า

อัตราค่าไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมมีอยู่ 3 รูปแบบ โดยกำหนดให้ค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้า(Peak) และค่าพลังงานไฟฟ้า(Kwh) แตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลาดังนี้

1. อัตราปกติ ที่โรงงานผมยังคงใช้เป็นอัตราปกติอยู่ครับ เพราะเมื่อเทียบกับอัตราแบบ TOD และ TOU แล้วเหมาะมากกว่าใช้ไฟถูกกว่าครับ มาดูกันครับว่า อัตราปกติคิดค่าไฟฟ้าอย่างไร โดยอัตราปกติที่ 22-33 KV จะคิดค่า Peak ตลอด 24 ชม. กิโลวัตต์ละ 196.26 บาท/Kw และคิดค่าไฟฟ้าหน่วยละ 1.7034 บาท/Kw มันจะเหมาะกับโรงงานที่ทำงานปกติ จันทร์-ศุกร์ ในช่วงเช้า และมี OT ช่วงเย็นครับ คือไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลง ให้ไปทำงานในตอนกลางคืน หรือวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ได้ การคิดอัตราค่าไฟอีก 2 แบบ คือ TOD และ TOU จะมาเล่าต่อในบทความต่อไปครับ เพราะบางท่านอาจจะสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับโรงงานของท่านได้

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประหยัดพลังงานด้วยการเลือกใช้หม้อแปลงไฟฟ้า


การประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วยการเลือกหม้อแปลงไฟฟ้าให้เหมาะสม ตั้งแต่สร้างโรงงานคงเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะเผื่อขนาดของหม้อแปลงไว้สำหรับการขยายธุรกิจใหม่ๆ เสมอ มาดูความสูญเสียในหม้อแปลงไฟฟ้ากันครับ ประกอบด้วย การสูญเสียในแกนเหล็ก (Core loss) และการสูญเสียตามโหลด (Load loss) ส่วนตารางนี้แสดงขีดพิกัดกำลังไฟฟ้าสูญเสียของหม้อแปลง ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน วิธีคำนวณกำลังไฟฟ้าสูญเสีย เช่นปัจจุบันใช้หม้อแปลง 3,000 KVA, 22 KV จากตาราง No Load Loss + Load Loss = 2,700 + 29,700 = 32.4 Kw พลังงานสูญเสียต่อปี 32.4 * 365 * 24 = 283,824 Kw/ปี ถ้าโหลดทั้งหมดที่ใช้ไม่เกิน 80% ของ 2,500 KVA พลังงานสูญเสียต่อปี = 244,842 Kw/ปี ส่วนต่างเท่ากับ 283,824 - 244,842 = 38,982 Kw/ปี ทั้งนี้ถ้าเรามีหม้อแปลงหลายตัวก็ให้รวมโหลดดีกว่าครับ แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมก่อนการเปลี่ยนแปลงครับ

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Unplug 1.1


กลับมาอีกครั้งกับบทความเทคนิคเล็กๆ ในการทำงานครับ บางครั้งเราจะพบกับเหตุการณ์เรื่อง Spare Part ชิ้นเล็กๆ จำพวกเซนเซอร์ หรือ Proximity Sw. ที่จะใช้หมด หรือรุ่นที่มีอยู่ไม่ตรงความต้องการ อย่างเรื่องนี้ครับเจอบ่อยๆ อุปกรณ์จำพวกเซนเซอร์ครับ มีของแต่รุ่นไม่ตรงให้เอาท์พุตไม่ตรงกับความต้องการ เช่น อยากได้เอาท์พุตไฟบวก แต่กลับออกไฟลบ จะทำอย่างไรละครับเครื่องหยุดอยู่กับแค่เซนเซอร์ตัวเดียว คำตอบนี้หลายคนคงเคยทำแล้วครับคือการปรับปรุงโดยผ่านรีเลย์ เพื่อให้เอาท์พุตออกตามต้องการ ดูตามรูปครับ รูปนี้เซนเซอร์เอาท์พุตไฟลบครับ แต่เราต้องการให้เอาท์พุตเป็นไฟบวกก็ต่อผ่าน Relay ครับใช้หน้าสัมผัสของมันช่วย หรืออาจจะปรับใช้กับการแปลงไฟให้จ่ายจาก 110V ไป 24V ก็ได้ แล้วแต่ความต้องการครับ ปรับใช้ได้หลายแบบ แต่สุดท้ายอยากให้ปรับปรุงอุปกรณ์ให้เหมาะกับการทำงานมากกว่าจะได้ไม่เปลี่ยนบ่อยๆ

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Save Mode 1.1


วันเวลาช่างหมดไปอย่างรวดเร็วจริงๆ นะครับ ผ่านไปอีกหนึ่งสัปดาห์แล้ว เมื่อวานนี้เป็นวันพ่อ ผมก็กลับบ้านไปกินข้าวกับครอบครัวอย่างเดิม แต่ก็มีของขวัญไปให้พ่อเราเล็กๆ น้อยๆ ครับทำให้ท่านอมยิ้มได้ ผมอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับคุณพ่อของเราให้มากๆ ครับ แต่ไม่ใช่เฉพาะวันพ่อนะครับ อยากให้ทำทุกๆวันเลย อย่าลืมนะครับว่าวันเวลามันแสนจะสั้นนัก ก่อนที่ท่านจะไม่อยู่กับเราครับ

วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การอ่านค่าพลังงานไฟฟ้าผ่าน Internet


สวัสดีครับวันนี้ เป็นวันสำคัญมากๆ ของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศครับ "วันพ่อแห่งชาติ" ขอพระองค์ทรงพระเจริญ อยู่คู่ประชาชนชาวไทยครับ
ผมเคยกล่าวว่าเราสามารถอ่านค่าการใช้พลังงานผ่าน Internet ได้ใช่ใหมครับ มันคือระบบ AMR หรือเรียกว่า Automatic Meter Reading คือ ระบบอ่านหน่วยมิเตอร์ไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ โดยอ่านข้อมูลจากมิเตอร์ผ่านอุปกรณ์ MIU (METER INTERFACE UNIT) จะติดอยู่ที่หน้าโรงงานเราครับ ผ่านระบบสื่อสารกลาง และส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของแต่ละรายทุก 15 นาที กับมายังกฟภ.ส่วนกลาง ข้อดีสำหรับลูกค้าคือ Software AMR สามารถแสดงผลผ่าน Web Application เพื่อให้ลูกค้าแต่ละรายสามารถตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้ เหมือนได้ติด Meter วัดผลการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งโรงงาน การขอเปิดใช้งานก็ไม่ยากครับให้ติดต่อทาง กฟภ. ได้เลยครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก กฟภ. ครับ

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Why Have To Control PF

จากบทความก่อนที่แล้วกล่าวถึงค่า PF บทความนี้จะกล่าวถึงว่าทำไมต้องควบคุมค่า PF และสามารถประหยัดพลังงานได้อย่างไร การที่ต้องควบคุมค่า PF เพื่อต้องการให้ค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าจริง (Active Power) ใกล้เคียงกับค่ากำลังไฟฟ้ารวม (Apparent Power) เนื่องจากกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ (Q) เป็นกำลังไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถควบคุมได้โดยการติดตั้งคาปาซิเตอร์ ซึ่งหากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้ติดตั้งคาปาซิเตอร์ ทำให้ค่า PF ต่ำ การไฟฟ้าจะต้องรับภาระในการจ่ายกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟเองทั้งหมด ผลที่ตามมาก็คือ การไฟฟ้าจะต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าจ่ายให้กับกำลังไฟฟ้าจริง และกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ ให้ได้ตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้การไฟฟ้าจึงได้ออกกฎมาเพื่อควบคุมค่า PF ของทุกโรงงาน โดยกำหนดว่าโรงงานใดมีค่า PF ต่ำกว่า 0.85 จะต้องเสียค่าปรับเพาเวอร์แฟคเตอร์ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Power Factor (PF)


เรามาทำความรู้จักกับค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าหรือ Power Factor(PF) กันดีกว่าครับ ค่า PF เป็นสัดส่วนของกำลังไฟฟ้าจริง (Real Power) คือค่า Kw ที่ใช้งานครับ และกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ (Reactive Power) คือค่ากำลังไฟฟ้า(Kvar) การเหนี่ยวนำของโหลดประเภทขดลวด เช่น มอเตอร์ หรือหม้อแปลง โดยค่ากำลังไฟฟ้ารวม (Apparent Power) จะเปลี่ยนแปลงตามค่ากำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ ลองดูจากรูปครับ ในขณะที่กำลังไฟฟ้าจริงที่ก่อให้เกิดงานมีค่าเท่าเดิม ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสูญเสียของระบบจ่ายไฟฟ้าครับ ตัวอย่างการคิดจากสูตร P = V * I * PF , แทนค่าแบบง่ายๆ ถ้า P(10) = V(10) * I(1) * PF(1) ค่ากำลังไฟฟ้าจริงจะมีค่าเท่ากับค่ากำลังไฟฟ้ารวม แต่ถ้า PF(0.5) ค่ากำลังไฟฟ้าจริงจะมีค่า P(5) แต่ค่ากำลังไฟฟ้าจริงต้องการกำลังเท่าเดิมเมื่อค่าแรงดันคงที่ จึงดึงค่ากระแสสูงขึ้น I(2) จึงเป็นผลให้ค่ากำลังไฟฟ้ารวมสูงขึ้น P(20) ครับ

วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Energy Savings by Reduce Peak


การประหยัดค่าพลังงานโดยการลดค่าพีค(Peak) หรือค่าความต้องการพลังงานสูงสุดในช่วงหนึ่งวันทำงาน ซึ่งค่า Peak ในแต่ละวันทำงานอาจจะใกล้เคียงกัน หรือไม่ใกล้เคียงกันก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งานของเครื่องจักร(Machine), แอร์คอมเพรสเซอร์(Air Compressore), แอร์คอนดิชั่น(Air Condition) และอื่นๆ ซึ่งการจะลดค่า Peak ต้องหาจุดหรือช่วงเวลาที่เกิดการใช้พลังงานสูงสุดในแต่ละวันให้พบ เมื่อพบอาจปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสม เช่น ย้ายเวลาการผลิตไปทำช่วงกลางคืน หรือหยุดการใช้งานของเครื่องจักรที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้การทำสิ่งใดๆ ต้องไม่มีผลกระทบต่อการผลิตนะครับ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ตัวอย่างจากรูปค่า Peak ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตรวจวัดให้ผ่าน Internet ครับ

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Easy Energy Savings 2

กลับมาอีกครั้งกับการเล่าเรื่องการประหยัดพลังงานแบบง่ายๆ กับผมครับ

  • การเลือกซื้อจอคอมพิวเตอร์ควรเลือกเป็นจอ LCD นะครับเพราะประหยัดไฟมากกว่าจอ CRT เดี๋ยวนี้ราคาไม่แพงด้วย
  • ถ้ามีบ้านเราควรทำรางรองน้ำฝนเก็บลงบ่อหรือตุ่มก็ได้ครับจะดีมาก เอาไว้เป็นน้ำใช้ไม่ต้องซื้อ
  • ข้อนี้หลายๆ ท่านคงทำกันไว้แล้ว คือปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณบ้านเพื่อช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างออกซิเจน ช่วยทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยครับ ใช้แบบบ้านๆ
  • สำหรับคนทำงานครับให้ปิดอุปกรณ์สำนักงานที่ไม่ใช้ทุกชนิดก่อนเลิกงานช่วยชาติประหยัดครับ ถึงโรงงานจะจ่ายเงินให้แต่อย่าลืมว่าโรงงานใช้ไฟฟ้าประเทศเรานะครับ

สำหรับบทความนี้พอแค่นี้ก่อนครับแล้วไว้ต่อบทความหน้ากับ Easy Energy Savings ครับ

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Energy Savings By Voltage Control 2


ครับกลับมาเขียนบทความภาคต่อเกี่ยวกับการปรับลดแรงดัน Voltage Control จาก 400 V. ไปสู่ 380 V. ครับ ผมทำการทดลองโดยการปรับต่ำแหน่งขดลวดด้านปฐมภูมิของหม้อแปลง (ด้าน High Voltage 22 KV) ลงเพราะหม้อแปลงของเอกรัฐลูกนี้ 1500 KVA (2000A) สามารถปรับต่ำแหน่งขดลวดได้ แต่ไม่ใช่ว่าผมจะปรับเองนะครับ เราต้องทำการปรึกษากับทางเอกรัฐก่อน ให้ทางเอกรัฐมาทำการตรวจสอบสภาพของขดลวดเพราะหม้อแปลงผมใช้มาประมาณ 10 ปีแล้ว ซึ่งถ้าเราปรับต่ำแหน่งขดลวดลง 1 ต่ำแหน่ง แรงดันจะตกลงประมาณ 10 V. ครับ ซึ่งก่อนที่เราจะทำการปรับลดเราต้องมีการเก็บข้อมูลของการใช้ไฟฟ้าแต่ละวันก่อน รวมถึงค่าการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละวัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน แต่สมัยนี้การไฟฟ้าพัฒนาแล้วครับ เราสามารถดูข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าผ่าน Internet ได้เดี๋ยวมาเล่าทีหลัง บทความหน้าจะนำรูปหลังลดแรงดันมาให้ดูครับ. -->ก่อนหน้า -->อ่านต่อ

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Save Mode


วันนี้เป็นวันอาทิตย์ครับ เป็นวันหยุดของมนุษย์เงินเดือนโดยแท้จริง หลังจากที่ต้องผ่านสงครามจิตวิทยาอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้พลังกาย พลังใจถดถอยมา 5 วัน บางคนอาจ 6 วัน วันหยุดจึงเป็นวันที่เราจะชาร์จแบตเตอร์รี่มนุษย์ให้เติมอีกครั้งพร้อมกับไปต่อสู้ใหม่ในวันพรุ่งนี้ครับ บางคนอาจไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ กับครอบครัว ไปดูหนังกับแฟน หรือไปกินข้าวกับคุณแม่ ก็ขอให้ใช้ช่วงเวลาชิวิตให้มีความสุขครับ บทความนี้อยากให้ทุกคนที่ได้อ่านรักษาสุขภาพในช่วงหน้าหนาว เพราะอากาศในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาวครับ.

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Easy Energy Savings 1

แนะนำวิธีการง่ายๆ กับการประหยัดพลังงานที่ใครๆ ก็ทำได้ครับ
-การเปิดไฟแสงแสงสว่างจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ความร้อนให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้นครับ ดังนั้นถ้าดวงไหนไม่ใช้ก็ปิดครับ.
-การซักเสื้อผ้าโดยเครื่องซักผ้าหรืออบผ้าควรใช้ให้เต็มความสามารถของเครื่องไม่ต้องเปิดใช้บ่อยๆครับ คล้ายๆกับการรีดผ้า
-เราไม่วางอุปกรณ์เครื่องตกแต่งบ้านขวางทางเครื่องปรับอากาศ และท่อระบายของเครื่องปรับอากาศครับ
-ควรเปลี่ยนจากหลอดไส้มาเป็นหลอดฟลูออร์เรสเซนต์ครับ เพราะประหยัดไฟฟ้ามากกว่า และด้วยนี้มีหลอด T5 ประหยัดไฟฟ้ามากขึ้นประมาณ 30% ของหลอด T8 ครับที่ให้แสงสว่างใกล้เคียงกัน
-ห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรปิดประตูทั้งหมดให้สนิทครับ ไม่ควรเปิดไว้เพื่อเครื่องจะได้ไม่ทำงานหนัก
-มีการตรวจสอบน้ำยาเครื่องปรับอากาศสม่ำเสมอเพื่อเครื่องจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการตรวจสอบน้ำยาเครื่องปรับอากาศของรถยนต์ด้วยเพราะถ้ามันรั่ว และน้ำยาเป็น Freon R-12 มันมีสาร CFC ซึ่งทำลายชั้นบรรยากาศของโลก ปกติจะถูกเปลี่ยนเป็น R-134a แล้ว
-เมื่ออากาศดี เช่น ช่วงฤดูหนาว อากาศเย็นสบายๆ ควรปิดเครื่องปรับอากาศและเปิดหน้าต่างรับลมดีกว่าครับ
สำหรับบทความวิธีการง่ายๆ กับการประหยัดพลังงานวันนี้พอแค่นี้ก่อนครับไว้ต่อบทความหน้าครับ

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Energy Savings By Voltage Control 1

ผมเคยสับสนว่าทำไมการควบคุมแรงดันให้อยู่ในระดับที่เครื่องจักรหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องการทำให้สามารถลดการใช้พลังงานได้ คำถามนั้นติดอยู่ในใจผมตลอดเวลาจนวันหนึ่งผมได้ทำการหาข้อมูล และทดลองทำดูจึงสามารถบอกได้ว่าจริงครับ แต่ต้องอยู่ในสภาวะที่ปัจจุบันแรงดันไฟฟ้าในโรงงานของเรามีค่ามากกว่า 380 V ปกติจะอยู่ที่ประมาณ 400 V ให้คิดง่ายๆ จากสูตรพื้นฐานครับ Power = 1.73 * I * V *PF. ถ้าให้ 1.73, I และ PF. เป็นค่าคงที่มีค่าเท่ากับ 1 ดังนั้น 400-380 = 20 มีส่วนต่างอยู่ที่ 20 W แต่หลายๆ ท่านอาจจะเคยคิดเหมือนผมว่าเครื่องจักรเคยกินพลังงานเท่าใด มันก็จะกินเท่าเดิมตลอด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแรงดันไม่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ใช่ครับเครื่องจักรที่เคยใช้พลังงานเท่าใดมันก็ยังใช้เท่าเดิมแต่เราได้ตัดส่วนที่ฟุ่มเฟือยออกไปครับ คือความสูญเสียในขดลวดของหม้อแปลง ความสูญเสียในสายไฟฟ้า และค่าพลังงานขณะ Start เครื่องจักร (Peak) ครั้งต่อไปผมจะนำตัวอย่างมาให้ดูครับ แต่การกระทำการใดๆ ที่อาจส่งผลต่ออุปกรณ์เครื่องจักรควรศึกษาก่อนนะครับ โดยดูจากคู่มือ. -->อ่านต่อ

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Unplug 1 (Tip Electricity)


วันนี้ผมขอพักเรื่องพลังงานไว้ก่อนครับ บังเอิญเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาผมไปเจอเหตุการณ์เกี่ยวกับการตรวจวัดสายไฟฟ้าว่าสายใดเป็น L สายใดเป็น N โดยปกติเราก็ใช้ไขขวงเช็คไฟตรวจเช็คดูไฟใช่ใหมครับ แต่บังเอิญในวันนั้นไม่มีครับ แต่เรามี Meter ตัวหนึ่งผมบอกทีมผมว่ามันบอกเราได้ครับว่าสายใดเป็นสาย L โดยวิธีใช้ปรับมาที่ย่านวัดแรงดันไฟสลับ สายด้านหนึ่งเสียบวัดไฟ และอีกด้านปล่อยไว้ครับตามรูป ถ้าสายใดเป็น L จะมีแรงดันขึ้นครับ ส่วนสาย N จะไม่มีแรงดันขึ้น ถ้าเอามือลองแตะๆ ดูอีกด้านแรงดันจะยิ่งเพิ่มครับ.

Nuclear Energy


เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์กันครับ พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ถูกปล่อยออกจากสารกัมมันตภาพรังสี ที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือที่เกิดในเตาปฏิกรณ์ปรมาณูหรือระเบิดปรมาณู การเกิด fusion ของนิวเคลียร์เล็ก มีหลักอยู่ว่า ถ้านำเอาธาตุเบาๆ ตั้งแต่ 2 ธาตุขึ้นไป มารวมกันโดยมีพลังงานความร้อนอย่างสูงเข้าช่วย จะทำให้ธาตุเบาๆ นี้รวมกัน กลายเป็นธาตุใหม่ ซึ่งหนักกว่าเดิม ส่วน fission เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างการยิงอนุภาคบางชนิดกับนิวเคลียสของธาตุหนักๆ ทำให้นิวเคลียสของธาตุหนักแตกแยกออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วนเป็นธาตุที่เบากว่าเดิม และขนาดเกือบเท่าๆ กัน พลังงานรูปนี้มีบทบาทต่อความเป็นอยู่ปกติของสิ่งมีชีวิตน้อย

Electrical Energy


ก่อนหน้านี้ผมมีบทความเกี่ยวกับไฟฟ้ามาจากไหน ซึ่งกล่าวถึงที่มาของพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นพลังงานไฟฟ้ากล่าวโดยย่อคือเป็นพลังงานที่ได้จากปฏิกิริยาเคมีแบบหนึ่งอันมีผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นได้ และกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้จะไหลผ่านความต้านทานไฟฟ้าได้ถ้าต่อให้เป็นวงจร ผลจากกระแสไฟฟ้าดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลต่าง ๆ เช่นก่อให้เกิดอำนาจแม่เหล็ก เกิดความร้อนหรือแสงสว่าง พลังงานที่เกิดจากการผ่านขดลวดไปในสนามแม่เหล็ก, พลังงานที่ใช้ขับเครื่องคอมพิวเตอร์, พลังงานที่ได้จากเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น

Radiant Energy

เรามาเรียนรู้พลังงานที่มาในรูปของคลื่นกันบ้างครับ ยกตัวอย่างเช่น แสง ความร้อน คลื่นวิทยุ อินฟาเรด อัลตราไวโอเลต รังสีเอกซ์ รังสีคอสมิก สิ่งมีชีวิตต้องอาศัยพลังงานรูปนี้ ในกระบวนการที่สำคัญต่างๆ เช่น การมองเห็นภาพ การสังเคราะห์ด้วยแสง การขยายพันธุ์ชนิดที่ขึ้นอยู่กับช่วงแสง อาจสรุปได้ว่าเป็นพลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นเอง ซึ่งพลังงานรูปนี้มีบทบาทต่อความเป็นอยู่ปกติของสิ่งมีชีวิต และอาจจะได้พลังงานที่ได้รับจากดวงอาทิตย์, พลังงานจากเสาส่งสัญญาณทีวี, พลังงานจากหลอดไฟ, พลังงานจากเตาไมโครเวฟ, พลังงานจากเลเซอร์ที่ใช้อ่านแผ่นซีดี ฯลฯ

Mechanical Energy


เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานกลกันครับ พลังงานกลเป็นพลังงานที่เกี่ยวข้อง กับการเคลื่อนที่โดยตรง เช่น ก้อนหินที่อยู่บนยอดเนินจะมีพลังงานศักย์กล (Potential mechanical energy) อยู่จำนวนหนึ่ง ขณะที่ก้อนหินกลิ้งลงมาตามทางลาดของเนิน พลังงานศักย์จะลดลง และเกิดพลังงานจลน์กลของการเคลื่อนที่ (Kinetic mechanical energy) ขึ้นแทน สิ่งมีชีวิตอาศัยพลังงานรูปนี้ในการทำงานที่ต้องมีการ เคลื่อนไหวเป็นประจำ เช่น การเดิน การขยับแขนขา การหยิบวัตถุ เป็นต้น

Thermal Energy


เรามาเรียนรู้กับพลังงานความร้อนกันครับ มนุษย์เราได้พลังงานความร้อนมาจากหลายแห่งด้วยกัน เช่น จากดวงอาทิตย์, พลังงานในของเหลวร้อนใต้พื้นพิภพ , การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง, พลังงานไฟฟ้า, พลังงานนิวเคลียร์, พลังงานน้ำในหม้อต้มน้ำ, พลังงานเปลวไฟ ผลของความร้อนทำให้สารเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น หรือมีการเปลี่ยนสถานะไป และนอกจากนี้แล้ว พลังงานความร้อน ยังสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีได้อีกด้วย หน่วยที่ใช้วัดปริมาณความร้อน คือ แคลอรี่ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แคลอรี่มิเตอร์

Chemical Energy

เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานเคมีกันครับ พลังงานเคมีเป็นพลังงานที่สะสมอยู่ในสารต่างๆ โดยอยู่ในพันธะระหว่างอะตอมในโมเลกุล เมื่อพันธะแตกสลาย พลังงานสะสมจะถูกปล่อยออกมาในรูปของความร้อน และแสงสว่าง ตัวอย่างเช่น พลังงานในกองฟืน, พลังงานในถังน้ำมัน เมื่อไม้ลุกไหม้แล้วจะให้คาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำ รวมถึงการผลิตของเสียอื่นๆ เช่น ขี้เถ้า เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ใช้แต่ละชนิด มีโครงสร้างทางเคมีที่ต่างกัน เมื่อทดลองใช้ในปริมาณเชื้อเพลิงที่เท่ากัน จะให้ความร้อนไม่เท่ากัน ซึ่งก๊าซธรรมชาตินั้นให้ความร้อนมากกว่าน้ำมัน และน้ำมันนั้นก็ให้ความร้อนมากกว่าถ่านหิน

Today Energy

เมื่อวันก่อนผมพูดถึงที่มาของพลังงานไฟฟ้าแต่ผมลืมไปว่า เราไม่ควรมองข้ามพลังงานอื่นๆ ที่อยู่ในโลกใบนี้ผมจึงขอเพิ่มเติมในส่วนนี้ครับ พลังงานแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ตามลักษณะที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งได้แก่
1. พลังงานเคมี (Chemical Energy)
2. พลังงานความร้อน (Thermal Energy)
3. พลังงานกล (Mechanical Energy)
4. พลังงานจากการแผ่รังสี (Radiant Energy)
5. พลังงานไฟฟ้า (Electrical Energy)
6. พลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Energy)

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Where Are Electrical Energy From?

หลายๆ ท่านอาจจะไม่ทราบว่าพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่นี้มาจากไหน เกิดขึ้นด้วยวิธีใดบ้าง ผมจึงนำข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านี้มานำเสนอครับ รูปแบบของการเกิดพลังงานไฟฟ้าแบ่งเป็น 5 รูปแบบครับ

1. เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า
2. เกิดจากการเปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า
3. เกิดจากการเปลี่ยนแสงสว่างให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell)หรือ โฟโตเซลล์(Photo Cell)
4. เกิดจากปฎิกิริยาเคมี เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย เซลล์แห้งและเซลล์เชื้อเพลิง เป็นต้น
5. เกิดจากการเหนี่ยวนำของอำนาจแม่เหล็กโดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ได้แก่ ไฟฟ้าที่ใช้อยู่ตามอาคารบ้านเรือนในปัจจุบัน

ขอขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยครับ

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Manage Energy Savings




การอนุรักษ์พลังงานสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท 1.Housekeeping (HK) เป็นวิธีที่มีการลงทุนต่ำหรือไม่มีการลงทุน เช่น การปิดไฟ ปิดแอร์ เมื่อเลิกใช้งาน เป็นต้น 2.Process Improvement (PI) หรือ Minor Change เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เช่น การเพิ่มระบบ เปิด-ปิด อัตโนมัติของเครื่องจักร การตั้งระบบแอร์ให้สลับกันทำงาน เป็นต้น 3.Machine Change(MC) หรือ Major Change เป็นการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่แทนเครื่องจักรเก่าที่ใช้พลังงานมาก จะมีการลงทุนสูงให้พิจารณาที่ระยะเวลาของการคุ้มทุนเป็นหลักครับ.

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Why? Energy Savings.




เนื่องจากเกิดภาวะด้านเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย ทำให้ส่งผลกระทบกับทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ทำให้องค์กรธุรกิจต้องมีการปรับกลยุทธ์ โดยการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ การบริหารจัดการ, วัตถุดิบ และ พลังงาน ซึ่งพลังงานถือเป็นต้นทุนที่สูง หากเราสามารถลดการใช้พลังงานหรือใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Kick Off Energy


คนเราใช้เวลามากมายค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการ บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตค้นหาคำตอบของการดำเนินชีวิต ผมเองก็เช่นกันได้เรียนรู้ที่จะมีชีวิตเพื่ออะไรบางอย่าง ถึงจะเป็นสิ่งเล็กน้อยในบล็อกเล็กๆ ของผม แต่ผมอยากทำขึ้น เพื่อลูกหลานในอนาคต เพื่อประเทศชาติของเราจะได้มีพลังงานใช้กันต่อไปครับ